ความหมายของสื่อสิ่งพิมพ์

สิ่งพิมพ์ หมายถึง สมุด แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้น รวมตลอดทั้งบทเพลง แผนที่ แผนผัง แผนภาพ ภาพวาดภาพระบายสี  ใบประกาศ แผ่นเสียง หรือสิ่งอื่นใดอันมีลักษณะเช่นเดียวกัน
สื่อ หมายถึง ผู้หรือสิ่งที่ทำการติดต่อให้ถึงกัน หรือชักนำให้รู้จักกัน
พิมพ์ หมายถึง ถ่ายแบบ ใช้เครื่องจักรกดตัวหนังสือหรือภาพ เป็นต้นให้ติดบนวัตถุ เช่น แผ่นกระดาษ ผ้า
ดังนั้น “สื่อสิ่งพิมพ์” จึงหมายถึง สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใดๆด้วยวิธีการต่างๆอันเกิดเป็นชิ้นงานที่ มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับ

ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ
– หนังสือสารคดี ตำรา แบบเรียนเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ที่แสดงเนื้อหาวิชาการในศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสื่อให้ผู้อ่าน เข้าใจ    ความหมาย ด้วยความรู้ที่เป็นจริง จึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นความรู้อย่างถูกต้อง
– หนังสือบันเทิงคดีเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เรื่องราวสมมติ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับควา เพลิดเพลิน สนุกสนาน มักมีขนาดเล็ก เรียกว่า หนังสือฉบับกระเป๋า หรือ Pocket Book ได้
สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร
– หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอเรื่องราว ข่าวสารภาพและ
ความ คิดเห็น ในลักษณะของแผ่นพิมพ์ แผ่นใหญ่ ที่ใช้วิธีการพับรวมกัน ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดนี้ ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งลักษณะ หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน
– วารสาร, นิตยสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอสาระ ข่าว ความบันเทิง ที่มีรูปแบบการนำเสนอ ที่โดดเด่น สะดุดตา และสร้างความสนใจให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้การผลิตนั้น มีการ กำหนดระยะเวลาการออกเผยแพร่ที่แน่นอน ทั้งลักษณะวารสาร, นิตยสารรายปักษ์ (15 วัน) และ รายเดือน
– จุลสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นแบบให้เปล่าโดยให้ผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้ มีกำหนดการออกเผยแพร่เป็นครั้ง ๆ หรือลำดับต่าง ๆ ในวาระพิเศษ
– สิ่งพิมพ์โฆษณา
– โบร์ชัวร์ (Brochure) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ เย็บติดกันเป็นเล่มจำนวน 8 หน้าเป็น อย่างน้อย มีปกหน้าและปกหลัง ซึ่งในการแสดงเนื้อหาจะเกี่ยวกับโฆษณาสินค้า
– ใบปลิว (Leaflet, Handbill) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ใบเดียว ที่เน้นการประกาศหรือโฆษณา มักมีขนาด A4 เพื่อง่ายในการแจกจ่าย ลักษณะการแสดงเนื้อหาเป็นข้อความที่ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย
– แผ่นพับ (Folder) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยเน้นการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้น
เป็นเนื้อหา ที่สรุปใจความสำคัญ ลักษณะมีการพับเป็นรูปเล่มต่าง ๆ
– ใบปิด (Poster) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา โดยใช้ปิดตามสถานที่ต่าง ๆ มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งเน้นการนำเสนออย่างโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ
สิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์  เป็น สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์การค้าต่าง ๆ แยกเป็นสิ่งพิมพ์หลัก ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่ใช้ปิดรอบขวด หรือ กระป๋องผลิตภัณฑ์การค้า สิ่งพิมพ์รอง ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่เป็นกล่องบรรจุ หรือลัง
สิ่งพิมพ์มีค่า เป็น สื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำหนดตามกฎหมาย เช่น ธนาณัติ, บัตรเครดิต, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน, หนังสือเดินทาง, โฉนด เป็นต้น
สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ เป็น สื่อสิ่งพิมพ์มีการผลิตขึ้นตามลักษณะพิเศษแล้วแต่การใช้งาน ได้แก่ นามบัตร, บัตรอวยพร, ปฏิทิน,บัตรเชิญ,ใบส่งของ,ใบเสร็จรับเงิน,สิ่งพิมพ์บนแก้ว ,สิ่งพิมพ์บนผ้า เป็นต้น
ความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์
สิ่งพิมพ์ในสังคมไทยมีหลายแบบหลายลักษณะ มีทั้งที่พิมพ์ในวงจำกัดและที่พิมพ์แพร่หลายทั่วไป ตามความต้องการของสังคมและจุดมุ่งหมายของผู้ผลิต ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนมีความต้องการที่จะรับรู้ข่าวสารที่ดี ที่ถูกต้อง กว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ในบรรดาสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลในปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์นับเป็นสื่อที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่ สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้
 สิ่งพิมพ์ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนชนิดหนึ่ง ซึ่ง มีความสำคัญไม่แพ้สื่ออื่น ๆ ปัจจุบันมีการสนับสนุนวงการพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น งานแสดงความทันสมัยของเทคโนโลยีทางการพิมพ์ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน งานดรูปา (Drupa) จัดทุก 4 ปี ที่เมืองดุชเชลดอร์ฟ การจัดงานประกวดโฆษณายอดเยี่ยมของโลก (Clio Award) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกวดงาน โฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 ประจำปี พ.ศ. 2536 – 2537 (Tact Award) มีสิ่งพิมพ์ส่งเข้าประกวดมากที่สุดถึง 697 ชิ้น ทั้งนี้เป็นเพราะสิ่งพิมพ์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากสื่ออื่น ๆ สิ่งพิมพ์มีอิทธิพลต่อวงการต่าง ๆ
บทบาทหน้าที่ของสื่อสิ่งพิมพ์
เปรียบเสมือนสื่อกลางหรือกระจกสะท้อนให้เห็นลักษณะต่าง ๆ ของสังคมบ้านเมืองหรือของประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมประเพณีและวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่และบทบาทในการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล การนำเสนอ แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ดังนั้นบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ก็คือ การกระทำหรือการสื่อสารของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้ส่งผล กำลังส่งผลหรือจะส่งผลต่อชีวิตและสังคม
บทบาทหน้าที่ของสื่อสิ่งพิมพ์
1. บทบาทการเป็นนายทวารประตูข่าวเคิร์ท เลวิน ได้ให้ความหมายของนายทวารประตูข่าว หรือคนเฝ้าประตูว่า คือบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในช่องทางการสื่อสาร เป็นผู้ตัดสินใจข่าวสารที่ตนได้รับมานั้นจะส่งไปยังมวลชนหรือไม่และส่งไปอย่างไร บุคคลผู้ทำหน้าที่นี้มักได้แก่ บรรณาธิการ หัวหน้าข่าว นักข่าว ซึ่งจะต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินเลือกและเสนอข่าวสารไปยังประชาชน
2. บทบาทการเป็นผู้แจ้งข่าวสาร
มีบทบาทในการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบ เสาะหาข้อเท็จจริง รายงานแบบเจาะลึก รวมไปถึงการรายงานเชิงสืบสวน เปิดโปง
3. บทบาทการเป็นสุนัขยาม
3.1 เฝ้าและจับตา ดูการปฏิบัติงานของรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ว่าการทำงานตามหน้าที่ ตามนโยบายหรือไม่
3.2 พิทักษ์ ปกป้อง ผลประโยชน์ของประชาชน จากกลุ่มอิทธิพล นักการเมือง
3.3 เตือนหรือเห่า ให้เจาหน้าที่รัฐทำตามหน้าที่ อันที่ถูกต้องหรือละเว้นการกระทำไม่ถูกต้อง และเตือนให้ประชาชนระวังกลลวง
4. บทบาทการเป็นเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์
4.1 รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน
4.2 ตรวจสอบการปฏิบัติงาน หรือพฤติกรรมที่ถูกร้องเรียนพร้อมหาข้อเท็จจริง มารายงาย
4.3 ตรวจสอบสื่อด้วยกันเองในเชิงจริยธรรม และจรรยาบรรณ
หน้าที่ของสื่อสิ่งพิมพ์
1. ให้ข่าวสารและรายงานความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ
2. เป็นแหล่งกลางในการนำเสนอความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
3. ให้สาระและความบันเทิง
4. ให้ความรู้ทางการศึกษาและบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ
5. ให้บริการด้านธุรกิจการค้า
อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์
อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้กระทำการ กับผู้ถูกกระทำการ ในลักษณะที่ผู้กระทำทำการลงไปโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อันมีผลให้ผู้ถูกกระทำการมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือทัศนคติเป็นไปตามความมุ่งหมาย หรือสอดคล้องกับผู้กระทำการ
สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารของสังคมซึ่งช่วยให้คนในสังคมมีความเข้า ใจกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในฐานะที่ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ก็จำเป็นที่จะต้องใส่ความเคลื่อนไหวของสังคม และถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาทางสื่อสิ่งพิมพ์ ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์และสังคมจึงมีบทบาทและอิทธิพลต่อกัน อิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์และสังคม พอจะนำมากล่าวได้ ดังนี้
1) สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือสื่อสารของสังคม ซึ่งช่วยให้ประโยชน์ทางการศึกษา ทำให้คนเกิดความรู้กว้างขวาง
2) ช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อบันทึกภาพสังคม ค่านิยม วัฒนธรรม ความเชื่อถือ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่
3) ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารทั้งในภาคธุรกิจเอกชนและภาครัฐบาล
4) เป็นสื่อในการช่วยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในวิถีทางที่ถูกต้องยุติธรรม
อย่างไรก็ตามอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เพราะสั่งคมและสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งที่ต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลักษณะอิทธิพลของสื่อสิ่งพิมพ์
1. ไม่มีอิทธิพล หมายถึง สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำลงไปเพื่อให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม แต่ไม่บังเกิดผล
2. อิทธิพลเบี่ยงเบน หมายถึง เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำลงไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม ที่ไม่ตรงกับเจตนาของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น
3. อิทธิพลในทางลบ หมายถึง การกระทำของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือพฤติกรรม แต่ผู้อ่านได้เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสื่อสิ่งพิมพ์นั้น
4. อิทธิพลในทางบวก หมายถึง เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ได้เสนอข่าวแล้วทำให้ผู้อ่านเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนทัศนคติตามที่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นต้องการ
อิทธิพลของหนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนชนิดหนึ่งในจำนวนหลายชนิดที่เผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ ความคิด และความบันเทิงไปสู่ประชาชน หนังสือพิมพ์ที่ดีมีคุณภาพ ก็จะมีส่วนในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น และหนังสือพิมพ์ที่ไร้คุณภาพก็จะฉุดประชาชนและสังคมให้ตกต่ำลง ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องเอาใจใส่ สอดส่องดูแล และควบคุม เพราะหนังสือพิมพ์สามารถที่จะปลุกระดม แทรกซึม โน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เจตคติ และพฤติกรรม หรือจริยธรรมของสังคมได้มาก ซึ่งอาจนำไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้ สาเหตุที่หนังสือพิมพ์มีอิทธิพลต่อสังคม เป็นเพราะ
1) หน้าที่ของหนังสือพิมพ์ อันได้แก่ หน้าที่ในการเสนอข่าวสารแก่สาธารณชน หน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางแก่สังคมในรูปของบทความ ความคิดเห็น หรือข้อทักท้วง และหน้าที่ในการให้ความบันเทิงและบริการต่างๆ ดังนั้นศิลปะในการนำเสนอข่าว หรือเทคนิคในการถ่ายทอดเรื่องราว จึงควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบ
2) ลักษณะของหนังสือพิมพ์ที่แฝงไว้ด้วยความพิเศษ คือ หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่ราคาถูก หาซื้อได้ง่ายทั่วไป หนังสือพิมพ์ให้ข่าวสารและรายละเอียดได้ลึกซึ้งกว่ารายการข่าวทางวิทยุหรือ โทรทัศน์ และยังประกอบด้วยหลายๆ ข่าวในฉบับเดียว จะอ่านเมื่อใดก็ได้ การนำเสนอภาพและเรื่องราวสามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานได้อีกด้วย
จะเห็นว่าหน้าที่หลักของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของข่าวสารในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดอิทธิพลต่อสังคมมากมาย สามารถสรุปได้ดังนี้
1. มีอิทธิพลต่อจิตใจผู้อ่าน
2. ทำให้ค่านิยมของประชาชนเปลี่ยนไป
3. มักตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มประโยชน์
4. มีส่วนช่วยในการสร้างประชามติต่างๆ
5. ภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ มีผลต่อภาษาไทยบ้างในบางกรณี
6. อิทธิพลจากวิธีการนำเสนอข่าว
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์จะมีอิทธิพลต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1. จำนวนและลักษณะของการที่ประชาชนได้รับข่าวสารหรืออ่านโดยตรง
2. อิทธิพลของหนังสือพิมพ์จะมีมากกว่า ถ้าเรื่องราวที่เสนอนั้นสอดคล้องกับความคิดเห็นเดิมของประชาชน แทนที่จะเสนอในทางตรงข้าม
3. ขึ้นอยู่กับเรื่องราวว่าผู้อ่านได้ทราบดีอยู่แล้วหรือไม่
อิทธิพลของนิตยสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆ
นิตยสาร และหนังสืออ่านเล่น เป็นสิ่งพิมพ์ที่มุ่งเสนอเนื้อหาสำหรับอ่านเพื่อเบาสมองและให้ความบันเทิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอิทธิพลต่อสังคม ดังนี้
1. เป็นแหล่งแสดงความรู้ความสามารถของคนทั่วไป เป็นเวทีวรรณกรรม
2. สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมปัจจุบัน
3. ส่งเสริมค้นคว้า และสร้างนิสัยใฝ่รู้ให้กับผู้ที่สนใจ
4. นิตยสารบางประเภทมีลักษณะมอมเมาประชาชน ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม
5. ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
6. สร้างค่านิยมต่อคนในสังคม และเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภค

ความคิดเห็น